นิตยสารออนไลน์รายสองเดือนสำหรับครอบครัวเดลต้าที่เพียรพยายามในการทำงาน
ประจำภูมิภาคอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย
นิตยสารออนไลน์รายสองเดือน
สำหรับครอบครัวเดลต้าที่เพียรพยายามในการทำงาน
ประจำภูมิภาคอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย

การเสวนาเรื่องความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการยอมรับความแตกต่าง (DEI) ในงานสัปดาห์ความยั่งยืนของเดลต้า ประเทศไทย 2565

โดย Delta Thailand SD Team - เผยแพร่เมื่อ พฤศจิกายน 20, 2565

กรุงเทพฯ ประเทศไทย 21 ตุลาคม 2565- หัวข้อของสัปดาห์ความยั่งยืนของเดลต้า ประเทศไทย ประจำปีนี้ คือความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการยอมรับความแตกต่าง (DEI) โดยมาพร้อมกับสโลแกน “เฉลิมฉลองความเป็นหนึ่งเดียวในความหลากหลายของชาวเดลต้า”  

งานสัปดาห์ความยั่งยืนประจำปี 2565 ได้จัดการเสวนาตามหัวข้อวันสากลแห่งสหประชาชาติ คือ การยุติการเหยียดเชื้อชาติ เพื่อสร้างสันติสุข โดยการเสวนาในครั้งนี้จัดขึ้นโดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยาและที่ปรึกษาปัญหา LGBT และสมาชิกกลุ่ม LGBT ซึ่งเป็นนักร้องลูกทุ่งที่มีชื่อเสียง รวมถึงตัวแทนจากเดลต้าเข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้ด้วย

ต่อไปนี้คือข้อความบางส่วนจากการเสวนาที่สนุกและน่าสนใจซึ่งจัดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่เดลต้า ประเทศไทย

วิทยา: "ความหลากหลาย" ในมุมมองของคุณคืออะไร

ฝน: เมื่อทุกคนสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ มีความภูมิใจในตัวเองและเคารพความแตกต่างของผู้อื่น ลองนึกถึงอาหารจานโปรดของเราอย่างส้มตำ ถ้าคุณใส่น้ำตาลลงไป รสชาติมันก็จะออกมาแย่ แม้ว่าคุณจะชอบทานหวานก็ตาม มันจะดีกว่าไหมถ้ามีรสเปรี้ยวและเค็มเล็กน้อยและคลุกเคล้าให้เข้ากัน แบบนี้ถึงจะทำให้ส้มตำอร่อย

ชินภัทร: สำหรับผม ความหลากหลายหมายถึงการที่ทุกคนสามารถแสดงออกได้อย่างอิสระ เราทุกคนเกิดมาพร้อมสิทธิ์นี้! คุณอาจต้องการให้คนอื่นเคารพในความเป็นคุณ แม้จะบางคนก็ไม่เข้าใจคุณและปฏิเสธคุณ แต่นั้นก็เป็นสิ่งที่ควรได้รับการเคารพเช่นกัน

สุพรรณี: มองแวบแรกจะสังเกตได้ง่าย ๆ เลยว่าทุกคนมีรูปร่างหน้าตา สีผิว ผิวพรรณ หรือการแต่งกายต่างกัน นี่เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะนิยามคำว่า “ความหลากหลาย” ถ้ามองลึกไปกว่านั้น เราทุกคนมีเชื้อชาติ ศาสนา และความเชื่อที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นตัวกำหนดแนวทางและการตอบสนองของเราต่อสถานการณ์ที่แตกต่างกัน

อรทิพย์: ที่เดลต้า เราจะเห็นคนที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ สัญชาติ ภาษา และเพศ ทำงานร่วมกัน เป็นเวลากว่า 30 ปีที่เดลต้าดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ดังนั้น พนักงานของเราจึงมีทุกช่วงวัย ในบรรดาเพื่อนร่วมงานชาวไทย เรามีคนที่มาจากภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและกรุงเทพฯ นอกจากนี้ ในบริบทขององค์กร ความหลากหลายยังรวมถึงหน้าที่ ความรับผิดชอบ ประสบการณ์ ภูมิหลังทางการศึกษา และทักษะของเราอีกด้วย

วิทยา: คุณเคยทำงานหรือทำโครงการกับเพื่อนร่วมงานหรือเพื่อนร่วมทีมที่มีความหลากหลายหรือไม่ อยากให้ทุกคนแบ่งปันประสบการณ์ของคุณ รวมถึงบอกข้อดี-ข้อเสียของความหลากหลายให้เราฟัง

ฝน: อาชีพของฉันมักนำพาผู้คนที่มีความหลากหลายเข้ามา ทั้งช่างแต่งหน้า ซาวด์เอ็นจิเนียร์ นักเต้น และผู้จัดการรายการ ซึ่งล้วนมีคาแรกเตอร์ รสนิยมทางเพศ ทักษะและหน้าที่ของตัวเอง ผลงานที่เป็นที่รู้จักของเราหลายชิ้นได้จากการตกผลึกของการรวมตัวของคนในทีมของเรา

ตัวอย่างเช่น เมื่อเราออกแบบการแสดงสำหรับเวทีหนึ่ง เราจะได้รับความคิดเห็นจากทีมของเราเกี่ยวกับสิ่งที่แฟน ๆ ต้องการชมหรือวิธีดึงดูดความสนใจจากผู้ชมกลุ่มเป้าหมายของเรา ความหลากหลายของทีมมักจะนำไปสู่การออกแบบการแสดงอย่างครอบคลุม

ชินภัทร: ผมทำงานด้านเทคนิค นอกจากเพื่อนร่วมทีมชาวไทยจากภาคต่าง ๆ แล้ว ยังมีสมาชิกชาวต่างชาติในทีมของผมด้วย เรามีประสบการณ์การทำงาน มุมมอง และประสบการณ์ด้านอื่น ๆ ที่แตกต่างกัน ซึ่งช่วยขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางเทคนิคและกระบวนการแก้ปัญหาของเรา แม้ว่าเราจะเผชิญกับอุปสรรคทางภาษา แต่นั้นก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไร

สุพรรณี: ฉันโชคดีที่ได้ทำงานในบริษัทระดับโลกในมาเลเซียมาหลายปีและมีเพื่อนร่วมงานที่มีความหลากหลาย การเป็นคนมุสลิมและการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารนั้นเป็นเรื่องปกติ สำหรับฉัน การทำงานกับคนที่หลากหลายไม่มีข้อเสีย การเรียนรู้และเจอกับวัฒนธรรม ความคิด มุมมอง และความเชื่อที่แตกต่างกัน มันทำให้ฉันสนุกกับประสบการณ์การทำงานมากขึ้น

วิทยา: เมื่อคุณทำงานกับเพื่อนร่วมงานที่มีความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ศาสนา ความเชี่ยวชาญ ความเชื่อ รสนิยมทางเพศ อะไรคือการกระทำหรือความคิดที่เหมาะสมที่ช่วยให้การทำงานร่วมกันเป็นไปได้อย่างราบรื่นและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

ชินภัทร: ก่อนหน้านี้หลายบริษัทปฏิเสธผมเพราะผมมีรอยสัก ซึ่งมันไม่ใช่เพราะคุณสมบัติที่ไม่เหมาะกับตำแหน่ง แต่ที่เดลต้า ภาพลักษณ์ของเราเป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับได้ตราบเท่าที่เรายังทำงานได้ก็พอ

ผมขอสารภาพเลยว่าเมื่อก่อนผมมักจะถูกมองแปลก ๆ เพราะรอยสักของตัวเอง ในประเทศไทย คนที่สักมักจะถูกตราหน้าว่าเป็นอดีตนักโทษหรือผู้ที่ทำผิดกฎหมาย ตอนที่มีคนเข้ามาถามผมตรง ๆ ผมจึงมีโอกาสบอกเขาว่าผมไม่ได้ติดยาหรือเป็นอาชญากร ผมแค่เป็นคนที่รักศิลปะบนร่างกาย ผมโชคดีมาก ๆ ที่มีเพื่อนร่วมงานที่เปิดกว้างและกล้าที่จะเข้ามาคุยกับผมอย่างตรงไปตรงมาและหลังจากเข้าใจกันแล้ว ทุกอย่างก็เป็นไปด้วยดี

สุพรรณี: ฉันไม่มีปัญหาอะไรในช่วงเวลาทำงาน แต่ไลฟ์สไตล์หลังเลิกงานที่แตกต่างจากหลาย ๆ คน “ทำไมไม่ไปปาร์ตี้ดื่มกับเราล่ะ” “ในหลายประเทศ ชาวมุสลิมสามารถมาทำงานโดยไม่ต้องสวมฮิญาบและสนุกสนานไปกับการปาร์ตี้หลังเลิกงาน” คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่เพื่อนร่วมงานของฉันมักจะถาม

และนั่นเป็นโอกาสที่ดีของฉันในการบอกสิ่งที่ฉันเลือกในการปฏิบัติตามหลักของมุสลิมอย่างเข้มงวด ซึ่งมันเป็นเพียงความเชื่อของฉัน ฉันเลือกที่จะปฏิบัติตามอัลกุรอานแบบ 100% สวมฮิญาบและละหมาดเพื่อสักการะอัลลอฮ์วันละ 5 ครั้ง ฉันไม่ดื่มแอลกอฮอล์แต่ฉันก็ยังเป็นเพื่อนร่วมงานที่คอยการสนับสนุนทุกคนอยู่ ถ้าพูดเพื่อให้เข้าใจกันมากขึ้น นี่เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเราราบรื่น

ฝน: เราสามารถภูมิใจที่ได้เป็นตัวของตัวเองได้ ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องเคารพในมุมมองของผู้อื่นที่คิดแตกต่างจากเรา ความคิดของคนเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ สิ่งเดียวที่ควบคุมได้คือตัวเราเอง เราต้องเช็กตัวเองอยู่เสมอเพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่เราเลือกทำนั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อใคร

อรทิพย์: ฉันตระหนักได้ว่าการทำงานของฉันที่ต้องเจอกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นต้องมีมารยาทและเรียบร้อย ดังนั้น ฉันจึงถอดต่างหู หยุดย้อมผมและแต่งตัวให้ดูน่าเชื่อถือ รูปลักษณ์แบบนั้นช่วยให้ฉันดูเป็นธรรมชาติ น่าเชื่อถือ และทำงานได้ง่ายขึ้น ฉันไม่ถือว่าการเปลี่ยนภาพลักษณ์เพื่อให้เข้ากับงานของฉันเป็นการยอมแพ้เพราะฉันยังคงสามารถเป็นตัวของตัวเองที่บ้าน ในปาร์ตี้ และในคอนเสิร์ต

วิทยา: เมื่อ “เสรีภาพในการแสดงออก” เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน อะไรคือวิธีที่เหมาะสมในการแสดงออกถึงความเป็นตัวเองต่อสาธารณะหรือเพื่อนร่วมงานของคุณ

ฝน: ฉันมาอยู่ที่นี่แค่ชั่วโมงเดียวก็รู้สึกขอบคุณที่เดลต้าอนุญาตให้พนักงานทุกคนสามารถแสดงออกถึงความหลากหลายทางเพศได้อย่างอิสระ การที่เป็น LGBTQ+ ฉันเคยกังวลเกี่ยวกับความรู้สึกของคนอื่น แต่เมื่อเวลาผ่านไป ฉันก็แค่ใช้ชีวิตอยู่กับแฟน ส่วนคนรอบตัวฉันพวกเขาก็แค่หาคำตอบและเข้าใจมันได้ด้วยตัวพวกเขาเอง

สำหรับในพื้นที่สื่อสาธารณะ การเล่นใหญ่หรือการประกาศอย่างเป็นทางการนั้นไม่สำคัญเลย ฉันไม่เคยปิดบังเรื่องรสนิยมทางเพศของตัวเอง แต่ฉันไม่คิดว่าต้องประกาศ “สวัสดีชาวโลก ฉันมีแฟนแล้ว!” ฉันก็แค่ใช้ชีวิตตามปกติของฉันในทุก ๆ วัน

ชินภัทร: ผมก็แค่พิสูจน์ตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่าผ่านงานที่ผมทำซึ่งเป็นงานที่มีคุณภาพและตรงต่อเวลา ส่วนในที่สาธารณะผมคิดว่าสังคมไทยมีความรู้มากขึ้นเกี่ยวกับศิลปะการสัก

วิทยา: คุณมีปัญหากับพ่อแม่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของตนเองหรือไม่

ชินภัทร: รอยสักของผมเคยสร้างปัญหาให้ครอบครัวของผม พวกเขากังวลว่าจะไม่มีบริษัทไหนมอบตำแหน่งที่ดีให้กับผม แต่การได้มาทำงานในตำแหน่งที่ดีที่เดลต้า ผมสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ ก็ทำให้หยุดทุกคำถามที่พวกเขาเคยมี

สุพรรณี: เยอะมาก แต่ฉันเชื่อว่าการแต่งตัวบ่งบอกสิ่งที่ต้องการ สิ่งที่ทำได้ และสิ่งที่ทำไม่ได้อยู่แล้ว

วิทยา: ถ้าคุณมั่นใจในการแสดงออกของตนเอง แต่ก็ยังมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับคุณ คุณจะแก้ไขสถานการณ์นี้อย่างไร

ชินภัทร: ในที่ทำงานนั่นเป็นเรื่องง่าย การเป็นพนักงานที่มีระเบียบวินัยและสามารถบรรลุเป้าหมายแผนกได้ด้วยคุณภาพ คือตราบใดที่ผมยังสามารถทำงานตามขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบงานตำแหน่งงานของผม ซึ่งตรงตามการประเมินเงินเดือนของผม หรือแม้แต่การทำงานเกินความคาดหมายของทีมที่จะทำงานให้สำเร็จ ความขัดแย้งของคนอื่นที่มีต่อไลฟ์สไตล์ของผมก็ถูกมองข้ามไป

สุพรรณี: โชคดีของฉันอีกเช่นเคยที่ไม่เคยเจอกับสถานการณ์อะไรแบบนี้

อรทิพย์: ก่อนหน้านี้ฉันแค่คิดว่ามันเป็นสิทธิ์ของฉันที่จะแสดงออกอย่างไรก็ได้และไม่จำเป็นต้องสนใจความคิดเห็นหรือคำติชมของผู้อื่น ซึ่งวิธีการนี้จะดีต่อตัวฉันหากฉันทำงานคนเดียว แต่เมื่อฉันต้องร่วมงานกับทีมอื่นในช่วงเก้าปีที่ผ่านมา ฉันก็ต้องปรับตัวเพื่อที่จะได้ทำงานร่วมกับทีมอื่นได้อย่างราบรื่น

ฉันเริ่มยอมรับว่าทุกคนมีสิทธิที่จะคิดและตัดสินฉัน เพราะเสื้อผ้า ทรงผม หรืออะไรก็ตาม ตอนนี้คนที่ทำงานกับฉันยุ่งกับสถิติ การวิเคราะห์ข้อมูล และเซตลอจิก พวกเขาไม่มีเวลามาสนใจรูปร่างหน้าตาของฉัน สำหรับในที่ทำงานความรู้และความรับผิดชอบนั้นสำคัญกว่าสิ่งใด

ฝน: ฉันเจอความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของฉัน อย่างเช่น เสียดายความสวยจริง ๆ ที่ไม่ได้คู่กับผู้ชายที่หล่อรวย ฉันได้ยินเรื่องแบบนี้บ่อย ๆ ในช่วงที่ฉันกับแฟนคบกันมา 19 ปี

แต่ในทางกลับกัน ฉันคิดว่าการอยู่กับคนที่ไม่ซื่อสัตย์ ผู้ชายที่ต้องการแค่ตุ๊กตาสวย ๆ ข้างกายหรือคนที่ไม่ให้เกียรติกัน ก็จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากกว่า ตอนนี้เราเพียงปล่อยให้ความสัมพันธ์ที่มั่นคงของเราดำเนินต่อไปอย่างมีความสุขและให้พวกเขาเห็นว่าเรามีความสุขแค่ไหน

วิทยา: อะไรคือ “ความเสมอภาค” ในที่ทำงาน
อรทิพย์: ที่เดลต้า เรามีพนักงานมากกว่า 17,000 คน ซึ่งทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันที่นี่ทุกวัน คนมักจะคิดว่า “ความเสมอภาค” คือ “ความเท่าเทียม” แต่ถ้าเราต้องการส่งเสริม “ความเท่าเทียม” ถ้าอย่างนั้น งาน เพศ ภูมิหลัง ทักษะ และความเชี่ยวชาญของเราควรจะเหมือนกันซึ่งอยู่บนความคาดหวังแบบเดียวกัน อย่างไรก็ตาม “ความเสมอภาค” ควรเป็นสิ่งที่ “ยุติธรรม” มากกว่า ซึ่งตรงกับความคาดหวังที่แตกต่างกันของพนักงานตามความต้องการเฉพาะของพวกเขา

ตัวอย่างเช่นที่เดลต้า เรามีมุมนมแม่สำหรับพนักงานแม่ลูกอ้อน พนักงานทุกคนทีมีอายุงานมากกว่า 10 ปีมีสิทธิ์ได้รับรางวัล เกียรติยศอายุงาน พนักงานที่เป็นคุณพ่อคุณแม่ทุกคนสามารถสมัครกองทุนการศึกษา และพนักงานที่ทานมังสวิรัติ เราก็มีเมนูมังสวิรัติจัดเตรียมไว้ให้โรงอาหารของเรา นั่นคือสิ่งที่เราถือว่าเป็นความเสมอภาค

ตอนนี้ฉันได้ยินพนักงานฝ่ายผลิตบางคนถามว่า “ทำไมฉันถึงไม่มีอิสระในการแต่งตัวเหมือนพนักงานออฟฟิศ ฉันควรมีสิทธิที่จะแสดงความชอบด้านแฟชั่นของฉัน มันไม่ยุติธรรมเลย!” กลับไปที่นิยามของคำว่า “ความเสมอภาค” ที่ปราศจากอคติกัน ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าผู้ปฏิบัติงานด้านเทคนิคและฝ่ายผลิตทุกคนควรทำงานอย่างปลอดภัยตามเป้าหมาย “อุบัติเหตุเป็นศูนย์” ของเดลต้า และต้องมีการตรวจสอบ ESD และ PPE (อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล) ก่อนเริ่มปฏิบัติงาน ชุดยูนิฟอร์มแบบ unisex เป็นส่วนหนึ่งของ PPE ประจำวันเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บจากเครื่องจักร ไฟฟ้า และใบมีดระหว่างการทำงาน

วิทยา: ความหลากหลายของพนักงานช่วยให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไร

ฝน: จากสิ่งที่ฉันได้เห็นในกลุ่มผู้ชมและผู้ที่เดินผ่านไปมาในวันนี้ ฉันอยากขอบคุณเดลต้าที่อนุญาตให้พนักงานทุกคนเข้าร่วมกิจกรรมนี้ ทำให้ฉันได้เห็นว่าพนักงานของเดลต้าสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ สภาพแวดล้อมที่กลมเกลียวและให้เกียรติซึ่งกันและกันแบบนี้เป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมให้พนักงานได้มีส่วนร่วม และสามารถนำไปใช้กับสู่แผนธุรกิจได้

นอกจากนี้ การที่บริษัทเคารพหรือรับฟังความคิดเห็นจากพนักงานทุกคน สะท้อนถึงการที่คุณเคารพหรือรับฟังความคาดหวังของลูกค้า ขอย้อนกลับมาที่ตัวอย่างส้มตำอีกครั้ง การรับฟังความคิดเห็นจากพนักงานเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการทำส้มตำแสนอร่อยที่มีทั้งความเปรี้ยว ความเค็ม ความหวาน และพริกที่ตรงกับรสนิยมของผู้บริโภค หากคุณขายส้มตำอร่อยถูกใจผู้บริโภคในวันนี้ คุณก็จะสามารถขายส้มตำของคุณได้ในระยะยาว

สุพรรณี: ในการทำงานของฉัน การออกแบบแคมเปญการตลาดที่มีประสิทธิภาพผ่านช่องทางและเนื้อหาที่เหมาะสม เราต้องเข้าใจความต้องการและพฤติกรรมของคนที่มีแนวโน้มที่จะมาเป็นลูกค้าของเรา นอกเหนือจากการหาข้อมูลและหาคำตอบแล้ว  อีกวิธีหนึ่งในการทำความเข้าใจว่าผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นลูกค้ากำลังมองหาอะไรหรือแม้แต่ทดสอบประสิทธิภาพของการออกแบบก็คือการรวบรวมความคิดเห็นที่หลากหลายจากเพื่อนร่วมงาน สรุปก็คือ การรวบรวมมุมมองที่หลากหลายเป็นปัจจัยที่มีประสิทธิภาพในการสร้างกลยุทธ์เพิ่มมูลค่าการขับเคลื่อนธุรกิจของเรา

วิทยา: หากความหลากหลายมีความสำคัญต่อความยั่งยืนขององค์กรจริง ๆ บริษัทควรส่งเสริมความหลากหลายและการเคารพซึ่งกันและกันอย่างไร

อรทิพย์: แน่นอน ในฐานะองค์กรข้ามชาติ เรายอมรับความหลากหลายให้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานประจำวันของเรา ถึงอย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ความหลากหลายในองค์กรมาจากมุมมองของผู้บริหารและอ้างอิงตามข้อมูลที่เรามีเท่านั้น แต่ตอนนี้เราตั้งตารอที่จะส่งเสริม DEI ให้มีความครอบคลุมมากขึ้นโดยการเรียนรู้เกี่ยวกับความคาดหวังของพนักงาน

เรากำลังเปิดช่องทางการสื่อสารให้มากขึ้นและเพิ่มการมีส่วนร่วมของพนักงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการให้ข้อมูลรวมถึงความต้องการและความคาดหวังของพวกเขา ข้อเสนอแนะที่จริงใจเหล่านี้จะช่วยให้เราจัดหาการลงทุนที่เหมาะสมในพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อพนักงานทุกคนได้มีความสุขในสถานที่ทำงานมากยิ่งขึ้น

เราส่งเสริมให้ทุกพนักงานทุกคนที่นี่สื่อสารกับเรามากขึ้น ในขณะเดียวกัน เราก็กำลังพัฒนานโยบายความหลากหลาย ความเทียม และการมีส่วนร่วม (DEI) ของบริษัท การสื่อสารและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนให้นโยบายนี้เกิดขึ้นจริงที่เดลต้า นอกจากนี้ บริษัทกำลังเปรียบเทียบการทำงานเกี่ยวกับ DEI ของพันธมิตรและคู่แข่งของเรา ด้วยการเข้าร่วมในโครงการชั้นนำระดับโลก เช่น DJSI, MSCI เป็นต้น

วิทยา: ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เราจะมีส่วนร่วมหรือส่งเสริมความหลากหลายและเคารพซึ่งกันและกันในสังคมรวมถึงในชีวิตประจำวันได้อย่างไร

ชินภัทร: ยอมรับความจริงว่าเราทุกคนมาจากพื้นเพ บริบททางสังคม และผ่านประสบการณ์ที่แตกต่างกันซึ่งทำให้ทุกคนไม่เหมือนกัน ดังนั้น เราควรจะใจดีและเคารพซึ่งกันและกัน

สุพรรณี: การคิดหรือเชื่อในสิ่งที่แตกต่างไม่ใช่เรื่องที่ต้องนำมาเป็นข้อขัดแย้ง เพื่อนร่วมงานอาจตั้งคำถามกับความเชื่อ/ตัวตนของคุณ แต่สิ่งนี้ควรนำมาเป็นโอกาสในการทำความเข้าใจซึ่งกันและกันให้ดีขึ้น

อรทิพย์: เช่นเดียวกับการที่คุณปกป้องสิทธิ์ ความเป็นส่วนตัว และตัวตนของคุณ คุณต้องปกป้องผู้อื่นด้วย ใช่! ความเข้าใจและความเคารพเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสังคมที่สงบสุขและยั่งยืน ในขณะที่คุณเคารพผู้อื่นจากใจของคุณ โปรดอย่าลืมที่จะแสดงออกผ่านคำพูดและการกระทำที่เป็นมิตรและสนับสนุนผู้อื่นด้วย

ฝน: ในขณะที่คนอื่นไม่สามารถบังคับเราให้ชอบพวกเขาได้ เราก็ไม่สามารถบังคับใครให้รู้สึกแบบเดียวกันกับเรา หรือเป็นคนที่เราต้องการได้เช่นกัน หากเราคาดหวังความเคารพจากผู้อื่น เราควรเคารพความคิดเห็นของผู้อื่นด้วย

หลังจากเสร็จสิ้นการเสวนา ผู้ดำเนินรายการได้สรุปข้อคิดที่สำคัญที่ได้เราได้จากการค้นหา DEI ของพนักงานเดลต้าในหลากหลายแง่มุม

เดลต้าขอขอบคุณผู้ร่วมเสวนาทุกท่านเป็นอย่างมากที่มาร่วมแบ่งปันความคิดเห็น และขอบคุณพนักงานเดลต้าทุกท่านที่เข้าร่วมกิจกรรมงานสัปดาห์ความยั่งยืน 2565

เรารอคอยที่จะให้งานสัปดาห์ความยั่งยืน 2565 และการมีส่วนร่วมของพนักงานเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนากลยุทธ์และการดำเนินการของ Delta Thailand DEI ต่อไป เรามาฉลองความเป็นหนึ่งเดียวในความหลากหลายของชาวเดลต้าต่อกันเถอะ!

เกี่ยวกับผู้เขียน (ทีมบรรณาธิการ)

Delta Thailand SD Team

แชร์ facebook linkedin

ร่วมแสดงความเห็น

แสดงความคิดเห็น next