โดย Delta Thailand - เผยแพร่เมื่อ มีนาคม 28, 2567
กรุงเทพฯ ประเทศไทย 13 มีนาคม 2567 - บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) เป็นตัวแทนของภาคการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงของประเทศไทยในงานสัปดาห์ความยั่งยืนแห่งเอเชียประจำปีครั้งที่ 3 (3rd Annual Sustainability Week Asia) ซึ่งจัดขึ้นโดย Economist Impact ณ โรงแรมแอทธินีกรุงเทพฯ โดยเดลต้าได้เข้าร่วมการอภิปรายพิเศษในหัวข้อ ‘การส่งเสริมตลาดคาร์บอนในเอเชีย’ ซึ่งมีผู้นำอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระดับภูมิภาคและมหาวิทยาลัยการจัดการแห่งสิงคโปร์ ร่วมหารือเกี่ยวกับโมเดลธุรกิจและกลยุทธ์การลดการปล่อยคาร์บอนในภูมิภาค
นายวิคเตอร์ เจิ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ผมเชื่อว่าจำเป็นต้องมีการดำเนินการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนสำหรับอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนมากขึ้นสำหรับภูมิภาค ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่เดลต้ามุ่งมั่นในเป้าหมายระดับโลกอย่าง RE100 และเราเชื่อว่าการแสวงหาโอกาสต่างๆ เช่น การก่อตั้งตลาดคาร์บอนสำหรับภูมิภาคเอเชียสามารถเป็นตัวอย่างของความพยายามร่วมกันดังกล่าว โดยตั้งแต่ปี 2565 เดลต้าได้ดำเนินโครงการกำหนดราคาคาร์บอนภายในบริษัทไว้ที่ 300 ดอลลาร์ต่อตันของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อบรรลุเป้าหมาย RE100 ภายในปี 2573”
งานสัมมนา Sustainability Week Asia ที่จัดขึ้นโดย Economist Impact เป็นปีที่ 3 นี้ มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงผู้คนที่ขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน ผู้บริโภคที่มีจุดมุ่งหมาย และผู้นำทางธุรกิจ เพื่อให้พวกเขาได้รับเครื่องมือและข้อมูลที่จำเป็นในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้เร็วมากยิ่งขึ้น โดยปีนี้มีผู้นำระดับสูงในกรุงเทพฯ จำนวน 800 คนเข้าร่วมงานเพื่อรับฟังกรณีศึกษา การอภิปรายเชิงลึก การอภิปรายโต๊ะกลมแบบส่วนตัว และเพิ่มโอกาสในการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ
เดลต้าได้รับเชิญให้เป็นแขกพิเศษในการประชุมภาคอุตสาหกรรมร่วมกับกลุ่มบริษัทโทรคมนาคมของประเทศมาเลเซียอย่างบริษัทเอเซียต้า (Axiata) บริษัทซิกนิฟาย (Signify) และมหาวิทยาลัยการจัดการแห่งสิงคโปร์ โดยเดลต้าเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพียงรายเดียวในประเทศไทยที่ติดอันดับดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ระดับโลกตั้งแต่ปี 2565 ถึงปี 2566 นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลผู้นำด้านการมีส่วนร่วมของซัพพลายเออร์ประจำปี 2565 (Supplier Engagement Leader 2022) จาก CDP ในด้านความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทาน