นิตยสารออนไลน์รายสองเดือนสำหรับครอบครัวเดลต้าที่เพียรพยายามในการทำงาน
ประจำภูมิภาคอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย
นิตยสารออนไลน์รายสองเดือน
สำหรับครอบครัวเดลต้าที่เพียรพยายามในการทำงาน
ประจำภูมิภาคอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย

จงเป็นการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่คุณอยากเห็น: วิสัยทัศน์สู่การเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมของหัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาของเดลต้า ประเทศไทย

โดย David Nakayama - เผยแพร่เมื่อ กรกฎาคม 22, 2567

บทสัมภาษณ์ นาย Rupesh Tandon หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาและสนับสนุนวิศวกรรม บริษัท เดลต้า ประเทศไทย

สมุทรปราการ ประเทศไทย 25 กรกฎาคม 2567 - เดลต้า ประเทศไทย เป็นผู้นำด้านอิเล็กทรอนิกส์กำลังไฟฟ้าในประเทศมากว่า 35 ปี และทีมวิจัยและพัฒนาในพื้นที่ของเราก็อยู่แนวหน้าในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเราให้เป็นศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ระดับโลกสำหรับเครื่องมือไฟฟ้า โทรคมนาคม ดาต้า เซ็นเตอร์ และการใช้งาน ICT ปัจจุบัน เดลต้า ประเทศไทย รับบทบาทสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ระบบส่งกำลังไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนการเติบโตในระดับโลกของเรา และสร้างโอกาสพิเศษให้กับวิศวกรชาวไทย

นาย Rupesh Tandon หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาและสนับสนุนวิศวกรรมของเดลต้า ประเทศไทย ผู้นำในการขับเคลื่อนการเติบโตครั้งใหม่ของทีม R&D ของเรา ในการสัมภาษณ์สุดพิเศษนี้ เขาได้เล่าถึงการเดินทางอันน่าทึ่งของเขาจากอินเดียสู่ประเทศไทย ซึ่งเขาได้สร้างประวัติศาสตร์แห่งความสำเร็จและนวัตกรรมที่นำไปสู่การเป็นผู้นำของทีม R&D ในท้องถิ่นที่มีศักยภาพสูง ซึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้เดินทางมาถึงจุดนี้คือ การสร้างแรงจูงใจในตัวเองให้ขยายกรอบความคิดและสร้างสภาพแวดล้อมการเติบโตเพื่อพัฒนาบุคลากร ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่แท้จริงของผู้นำด้านนวัตกรรม

คุณช่วยเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับภูมิหลังของคุณได้หรือไม่ว่าคุณก้าวเข้ามาสู่สาขาที่น่าสนใจอย่างอิเล็กทรอนิกส์กำลังได้อย่างไรและมาทำงานในประเทศไทยได้อย่างไร?

ผมมาจากเมืองมุมไบ รัฐมหาราษฏระ แม้ว่าบรรพบุรุษของผมจะมาจากทางภาคเหนือของอินเดีย แต่ผมเกิดและเติบโตในมุมไบ ผมคือ Mumbaikar (คำที่ใช้เรียกคนที่มาจากมุมไบ ) อย่างแท้จริง ผมจบการศึกษาจาก Board of Technical Education Mumbai ในปี 2533 และเริ่มทำงานในบริษัทที่ชื่อว่า Hybrid Electronics ซึ่งเป็นที่ที่ผมฝึกงานในปีสุดท้ายด้วย การเดินทางของผมในฐานะวิศวกรอิเล็กทรอนิกส์กำลังเริ่มต้นที่นี่ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตแหล่งจ่ายไฟแบบสวิตช์รายแรก ๆ ในอินเดีย

ผมทำงานที่นั่นเป็นเวลาสี่ปี โดยเริ่มต้นในตำแหน่งวิศวกรออกแบบ เรียนรู้พื้นฐานเกี่ยวกับแหล่งจ่ายไฟแบบสวิตชิ่ง และค่อย ๆ ไต่เต้าขึ้นมาจนกลายเป็นหัวหน้าทีม การทำงานในบริษัทเล็ก ๆ ทำให้ผมได้เรียนรู้ไม่เพียงแค่การออกแบบ แต่ยังรวมถึงคุณสมบัติ การควบคุมคุณภาพ ทักษะการผลิต และที่สำคัญที่สุดคือความรู้ด้านธุรกิจ เราได้มีโอกาสไปเยี่ยมลูกค้าใหม่พร้อมกับฝ่ายขาย และการได้พูดคุยกับพวกเขาทำให้ผมมีมุมมองใหม่ ๆ มากมายเกี่ยวกับธุรกิจ/ฝ่ายขาย นอกเหนือไปจากความต้องการและทักษะด้านการออกแบบ

ในปี 2537 ผมได้เข้าทำงานกับบริษัทที่มีชื่อว่า Ultra Tek Devices ซึ่งเป็นบริษัทส่งออกและผลิต Compaq, HP, IBM, GI (General Instruments) ฯลฯ 100% ให้กับลูกค้า ที่นี่ ผมได้สัมผัสกับตลาดต่างประเทศและความต้องการของพวกเขา ซึ่งเป็นจุดที่ริเริ่มแนวคิดของผมเกี่ยวกับความปลอดภัยของแหล่งจ่ายไฟและข้อกำหนด EMC ได้รับการขัดเกลาและปรับปรุงให้ดีขึ้น ผมทำงานให้กับบริษัทอีกสองสามแห่งตั้งแต่ปี 2537 ถึงปี 2543 ทำให้พื้นฐานเกี่ยวกับการผลิตอิเล็กทรอนิกส์กำลังของผมแข็งแกร่งขึ้น และในปี 2543 ผมได้ตัดสินใจที่จะออกสำรวจและเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ นอกประเทศอินเดีย

ผมมีตัวเลือกสองสามที่ในเอเชียและในท้ายที่สุดก็ตัดสินใจเข้าร่วมกับเดลต้า ประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2544 ผมถูกสัมภาษณ์โดย Didier Chaumet ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาในขณะนั้น และ Alex Jong ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนา และการสัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายของผมถูกสัมภาษณ์โดย Stronger Wang ซึ่งดำรงตำแหน่ง COO ในขณะนั้น คุณ Wang ถามผมว่าผมตั้งใจที่จะทำงานอยู่ที่นี่นานแค่ไหน และคำตอบของผมคือประมาณ 3-5 ปี เขาบอกว่าผมควรพิจารณาถึงอาชีพในระยะยาว และวันนี้ผมอยู่ที่นี่มาเป็นเวลา 23 ปี ผมชอบในการทำงานที่เดลต้าและประเทศไทยมาก เพราะคนไทยเป็นมิตรและใจดี

คุณมีเส้นทางอาชีพที่ยาวนานพร้อมกับความสำเร็จ คุณช่วยแบ่งปันไฮไลท์และเหตุการณ์สำคัญในอาชีพของคุณให้เราฟังได้หรือไม่?

อาชีพของผมดำเนินมาอย่างยาวนานและมันก็เป็นอาชีพที่ดีมาตลอดจนถึงทุกวันนี้ ผมอยากจะบอกว่าผมพอใจกับสิ่งที่ตนเองทำและหวังว่าจะทำได้มากกว่านี้และมีส่วนสนับสนุนให้มากที่สุด ในตอนที่ผมเริ่มทำงานกับเดลต้า โปรเจคแรกของผมนั้นเป็นโปรเจคที่ยากและเราไม่ได้รับโปรเจคนั้นจากลูกค้า แม้ว่าผลงานการออกแบบตัวอย่างจะดีก็ตาม แต่เราเสียเปรียบในเรื่องต้นทุน นั่นทำให้ผมไม่พอใจเป็นอย่างมาก (แต่ไม่เสียกำลังใจ) ซึ่งบทเรียนจากโปรเจคนี้ช่วยหล่อหลอมให้ผมเป็นผมในทุกวันนี้ และผมก็ดำเนินโปรเจคอื่น ๆ สำเร็จไปได้อย่างรวดเร็วในเวลาเดียวกัน

ในปีที่สามของผมที่ทำงานที่เดลต้า เราได้ยื่นขอสิทธิบัตรการออกแบบหนึ่งฉบับและยังดำเนินการยื่นขอสิทธิบัตรฉบับที่สองหลังจากผ่านไป 4-5 ปี แน่นอนว่าสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ประสบความสำเร็จมากมายที่เราทำเพื่อบริษัท

ในปี 2548 ผมได้เริ่มทำงานในกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นร่วมกับทีมออกแบบในยุโรปของเรา ซึ่งก็คือแหล่งจ่ายไฟ DINRAIL ภายในปี 2549-2550 เราเริ่มตระหนักถึงวิสัยทัศน์ใหม่ในการเป็นผู้ผลิตแหล่งจ่ายไฟแบรนด์เดลต้าของเราเอง และการที่ผมเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานนี้ถือเป็นไฮไลท์และก้าวสำคัญในอาชีพของผม ความสำเร็จของแหล่งจ่ายไฟ (PSU) แบรนด์เดลต้านี้ทำให้ผมรู้สึกภาคภูมิใจและมีความสุขเป็นอย่างยิ่ง

ขอแสดงความยินดีกับตำแหน่งหัวหน้าฝ่าย DET R&D และฝ่ายสนับสนุนวิศวกรรมด้วย บทบาทของคุณจะพัฒนาไปอย่างไร และคุณตั้งตารอที่จะได้ทำสิ่งใดมากที่สุด?

ขอบคุณครับ ผมรู้สึกว่าบทบาทนั้นคล้ายกันแต่มีทีมที่ใหญ่ขึ้นและแน่นอนว่าความรับผิดชอบจะมากขึ้นเช่นกัน ความท้าทายคือการทำความเข้าใจเป้าหมายและกลยุทธ์ทางธุรกิจของหน่วยธุรกิจ และความท้าทายที่พวกเขาเผชิญในการรับมือกับธุรกิจและลูกค้า เราต้องพิจารณาว่าจะเอาชนะและรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไรเพื่อปูไปสู่เส้นทางข้างหน้า

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการปรับปรุงและพัฒนาอยู่เสมอ และผมเชื่อว่าเราสามารถพัฒนาได้ในฐานะทีม ดังนั้น นี่จึงเป็นเป้าหมายหลัก และเราจะทำงานเพื่อปรับปรุงและพัฒนาการตอบสนองและความสามารถทางเทคนิคของทีม

คุณมองว่าจุดแข็งหลักของฝ่ายวิจัยและพัฒนาและผลิตภัณฑ์ของเดลต้า ประเทศไทย ที่ทีมงานในท้องถิ่นของเรามีความโดดเด่นในการพัฒนาคืออะไร และเราจะสานต่อความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ EV ในประเทศไทยได้อย่างไร?

ฝ่ายวิจัยและพัฒนาของเดลต้า ประเทศไทย เราได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และทีมงานในท้องถิ่นของเรามีความเชี่ยวชาญในการจัดการกับความหลากหลายนี้ นอกจากนี้ เรายังมีวิศวกรด้านอิเล็กทรอนิกส์กำลังที่ยอดเยี่ยม รวมถึงความเชี่ยวชาญด้านเฟิร์มแวร์และการจัดการโครงการ ซึ่งเราได้ทำงานกับบุคลากรที่มีความสามารถจากต่างประเทศ ซึ่งทำให้มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและประสบการณ์มากขึ้น

ดังนั้น เราจึงพร้อมสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ EV ในประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าเราอาจไม่มีประสบการณ์ด้านผลิตภัณฑ์ยานยนต์ แต่ก็คล้ายกับตอนที่เราเริ่มพัฒนาแหล่งจ่ายไฟสลับเมื่อ 25 ปีก่อน และตอนนี้ ด้วยเครื่องมือพัฒนาที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ในไม่ช้านี้ เราก็จะมีทีมงานเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ EV ของตนเองที่นี่

ปัจจุบัน เราร่วมมือกับทีม R&D ในยุโรปและถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อเนื่อง และเรากำลังดำเนินร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ศูนย์ R&D ในประเทศไทยแห่งนี้อีกด้วย

โอกาสที่ไม่เหมือนใครที่ทีมวิจัยและพัฒนาของเดลต้าเสนอให้ซึ่งวิศวกรไม่สามารถพบได้ในบริษัทอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ในประเทศไทยคืออะไร? และอะไรที่ทำให้เดลต้าเป็นสถานที่ทำงานที่ยอดเยี่ยมสำหรับบุคลากรที่มีความสามารถด้านวิจัยและพัฒนา?

ผมพูดได้เต็มปากเลยว่าไม่มีบริษัทผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้ากำลังแห่งใดในประเทศไทยที่มีขนาดเท่ากับเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ซึ่งไม่เหมือนกับบริษัทอื่น ๆ ที่วิศวกรอาจต้องทำงานง่าย ๆ อย่างการทดสอบ แต่วิศวกรของเรานั้นจะได้ทำงานวิจัยและพัฒนาอย่างแท้จริง

เดลต้าเป็นบริษัทอิเล็กทรอนิกส์กำลังไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยมีศูนย์ออกแบบแห่งทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร จีน และอินเดีย เราเปิดโอกาสให้วิศวกรได้พบปะพูดคุยวิศกรในศูนย์อื่น ๆ ทั่วโลก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่บริษัทอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ในประเทศไทยจะมีโอกาสเช่นนี้

นอกจากนี้ เดลต้ายังทำงานร่วมกับลูกค้าชั้นนำระดับโลกที่พยายามผลักดันขอบเขตทักษะการทำงานของวิศวกรของเรา เดลต้ายังมอบการเติบโตในอาชีพที่ยอดเยี่ยมและวิศวกรจะได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการทำงานในสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นเลิศและมีการแข่งขันสูง

ในฐานะผู้นำด้านการวิจัยและพัฒนา อะไรเป็นแรงผลักดันให้คุณแสวงหาสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง และคุณมองว่าผู้นำด้านนวัตกรรมควรมีกรอบความคิดและพฤติกรรมแบบใด?

ผมอยากเห็นผู้นำที่มีแรงบันดาลใจในตนเองและกระตือรือร้นที่จะขยายกรอบความคิดของตนเอง ผมเป็นคนที่สร้างแรงบันดาลใจให้ตนเองมาโดยตลอด ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ผมสามารถมาถึงจุดนี้ได้ ผมเชื่อว่าความอยากรู้อยากเห็น ความคิดสร้างสรรค์ และความหลงใหลในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ คือสิ่งสำคัญที่ผมอยากเห็นในกรอบความคิดและพฤติกรรมของผู้นำ

คุณลักษณะอีกประการหนึ่งของผู้นำด้านนวัตกรรมคือความเต็มใจที่จะร่วมมือ ยอมรับความเสี่ยง และยอมรับความคิดเห็นจากคนในทีม และทำให้พวกเขารู้สึกถึงการมีส่วนร่วม

คุณคิดว่าวิศวกร R&D ควรมีคุณสมบัติเด่นอะไรบ้าง และทักษะและเทคโนโลยีในอนาคตที่ควรเรียนรู้มีอะไรบ้าง?

ผมเชื่อว่าการเรียนรู้ไม่มีขีดจำกัด และผมยังคงเรียนรู้ต่อไปในทุก ๆ วัน เมื่อต้องพูดถึงคุณสมบัติที่ดีที่สุดของวิศวกร R&D ผมสามารถเขียนมันออกมาได้เป็นไบเบิลเลย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมอยากเห็นในตัววิศวกร R&D ในอุดมคติคือทักษะการแก้ปัญหา ความรู้ทางเทคนิค ความอยากรู้อยากเห็น ทักษะการทำงานเป็นทีม (พฤติกรรมต่อสมาชิกในทีมคนอื่นหรือลักษณะการทำงานร่วมกัน) ทักษะความเป็นผู้นำ (ทัศนคติ) และทักษะการสื่อสาร

มีสิ่งต่าง ๆ มากมายที่ต้องเรียนรู้และโอกาสมากมายในสาขาต่าง ๆ เช่น AI การวิเคราะห์ข้อมูล ความปลอดภัยทางไซเบอร์ คลาวด์คอมพิวติ้ง และ IoT เมื่อแหล่งจ่ายไฟกำลังมุ่งหน้าสู่การออกแบบที่กะทัดรัด (ความหนาแน่นของพลังงานสูง) เรากำลังพิจารณาถึงการระบายความร้อนด้วยของเหลวสำหรับแหล่งจ่ายไฟและเพิ่มโปรโตคอลการสื่อสารต่าง ๆ เช่น IO-Link, Profi-BUS, Can-BUS ซึ่งโปรโตคอลการสื่อสารต่าง ๆ เหล่านี้รวมเข้ากับแหล่งจ่ายไฟและแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์สำหรับการกำหนดค่าระบบไฟฟ้า (PS)

คุณประสบความสำเร็จในอาชีพด้านการวิจัยและพัฒนาและชีวิตส่วนตัวในประเทศไทยเป็นอย่างมาก คุณคิดว่าอะไรคือเคล็ดลับในการเป็นผู้นำไปพร้อม ๆ การดูแลครอบครัวในต่างประเทศ?

ผมคิดว่าการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวนั้นเป็นความท้าทายสำหรับทุกคน ไม่ว่าคุณจะอาศัยอยู่ที่ใดหรืออยู่ในต่างประเทศก็ตาม อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณอยู่ต่างประเทศ มันเป็นความท้าทายอีกขั้นหนึ่งในการรักษาวัฒนธรรมและจริยธรรมของตนเอง การพยายามรักษาสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงานนั้นหมายถึงการกำหนดขอบเขตเวลาทำงานและใช้เวลาทำกิจกรรมกับครอบครัวเพื่อให้แน่ใจว่ามีเวลาพักผ่อนและชาร์จพลังอยู่เสมอ

การปรับตัวทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งสำคัญมากในการใช้ชีวิตในต่างแดน นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ทั้งในด้านอาชีพและชีวิตส่วนตัว ผมรู้สึกมีความสุขเนื่องจากวัฒนธรรมไทยไม่แตกต่างจากวัฒนธรรมอินเดียมากนัก ซึ่งช่วยให้เราสามารถเลี้ยงลูกของเราให้มีภูมิหลังที่คล้ายคลึงกันตอนที่เราอยู่อินเดียได้

การบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผมสามารถจัดการความรับผิดชอบระหว่างการทำงานและชีวิตครอบครัวได้ ซึ่งหมายความว่าต้องจัดลำดับความสำคัญของงานและเรียนรู้ที่จะมอบหมายงานหากจำเป็น การเป็นผู้นำและการดูแลครอบครัวเป็นงานใหญ่และผมคงทำไม่ได้หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภรรยาของผม ซึ่งผมรู้สึกขอบคุณพระเจ้ามากที่ทรงส่งคนที่เข้าใจผมมาอยู่ข้าง ๆ

ในฐานะผู้นำด้าน R&D คุณจะส่งเสริมให้บุคคลที่มีความสามารถและมีความหลากหลายจำนวนมากทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกันได้อย่างไร?

การสื่อสารมีบทบาทสำคัญมากในทุก ๆ ด้าน (ทั้งส่วนตัวและในอาชีพ) การประกาศให้ทีมทราบอย่างชัดเจนถึงเป้าหมายและความคาดหวังของทีม และคอยเตือนพวกเขาเป็นระยะ ๆ

การทำให้ทุกคนรู้สึกมีคุณค่าและถูกรับฟัง ให้พวกเขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เสริมพลังให้พวกเขาโดยให้อิสระในการตัดสินใจและลงมือทำด้วยตนเองเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การสนับสนุนพวกเขาเมื่อล้มเหลวและช่วยให้พวกเขาลุกขึ้นมาได้ วิธีนี้จะช่วยเพิ่มความมั่นใจและสร้างสภาพแวดล้อมของทีมที่พวกเขาจะทำแบบเดียวกันกับรุ่นน้องเมื่อพวกเขาต้องให้คำปรึกษา (พวกเขาจะทำสิ่งที่พวกเขาเห็นและผ่านมันมาด้วยตัวเอง)

คุณมีอะไรที่อยากจะแบ่งปันกับเพื่อนร่วมงานเดลต้าในประเทศไทยและทั่วโลกหรือไม่?

เดลต้าเป็นบริษัทที่ยอดเยี่ยมซึ่งมีวัฒนธรรมและความหลากหลาย ผมถือว่าตัวเองโชคดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเดลต้า

สิ่งที่ผมต้องการจะบอกก็คือ ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ เราทุกคนต่างต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และต้องการให้ผู้คนเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงเพื่อตอบสนองความต้องการของเราอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมอยากจะบอกกับทุกคนก็คือ “จงเป็นการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่คุณอยากเห็น!”

สุภาษิตสั้น ๆ นี้พูดได้ง่ายกว่าทำ แต่นี่เป็นทัศนคติที่เราควรจะมีกัน หากเราทุกคนคิดเช่นนี้และเปลี่ยนแปลงแม้เพียงเล็กน้อย โลกของเราก็จะก้าวไปสู่สถานที่ที่ดีกว่า


David Nakayama

เกี่ยวกับผู้เขียน (ทีมบรรณาธิการ)

David Nakayama

หากคอนเทนต์คือราชา ซึ่งแน่นนอนว่าต้องมีผู้สร้างราชา และธีมโปรดในบทความของผมคือความปรารถนาของมนุษย์ที่จะเป็นอิสระ ผมจบปริญญาโทในสาขาการศึกษาภาษาจีน และมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมในหลายประเทศ ในฐานะที่เป็น Comms ของเดลต้า ประเทศไทย ผมมีความสนใจเป็นอย่างมากเกี่ยวกับเรื่องราวเบื้องหลังของผลิตภัณฑ์และผู้คนของเรา สามารถแบ่งปันเรื่องราวของคุณกับผมได้ที่ https://www.linkedin.com/in/yushi-david-nakayama/

แชร์ facebook linkedin

ร่วมแสดงความเห็น

แสดงความคิดเห็น next