นิตยสารออนไลน์รายสองเดือนสำหรับครอบครัวเดลต้าที่เพียรพยายามในการทำงาน
ประจำภูมิภาคอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย
นิตยสารออนไลน์รายสองเดือน
สำหรับครอบครัวเดลต้าที่เพียรพยายามในการทำงาน
ประจำภูมิภาคอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย

เพื่อสิ่งที่ดีกว่า: วิสัยทัศน์ของ CEO เดลต้าประเทศไทยคนใหม่เพื่อการเติบโตสู่บริษัทที่ดี

โดย David Nakayama - เผยแพร่เมื่อ พฤษภาคม 20, 2567

บทสัมภาษณ์ นายวิคเตอร์ เจิ้ง CEO ของบริษัทเดลต้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย
ภาพโดย Chatchawan Koomook, DET ER และ Delta CEO Office

สมุทรปราการ ประเทศไทย 29 พฤษภาคม 2567 – ด้วยเวลากว่าสามทศวรรษ นายวิคเตอร์ เจิ้ง กลายเป็นหัวใจสำคัญของการเติบโตของเดลต้า ตั้งแต่ธุรกิจพลังงานหลักไปจนถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์หน้าจอแสดงผล เครือข่าย และโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยการเติบโตขึ้นของเดลต้า ประเทศไทย ในฐานะผู้ผลิตหลักและเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตในอนาคตของเดลต้า กรุ๊ป วิคเตอร์ได้เข้ามารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) คนใหม่และจะนำภูมิภาคไปสู่เป้าหมายสูงสุด

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษกับ CEO ที่ห้องทำงานของเขา เราได้พูดคุยเกี่ยวกับไฮไลท์ในอาชีพของเขาที่เดลต้า และเขาได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานการเติบโตขององค์กรระดับโลกอย่างเดลต้า กรุ๊ป และการพัฒนาอันเป็นเอกลักษณ์ของเดลต้า ประเทศไทย นอกจากนี้ เขายังแบ่งปันวิสัยทัศน์ของเขาเกี่ยวกับภูมิภาคและแนวความคิดของเขาในการสร้างบริษัทที่ดีและเป็นผู้นำที่คอยให้การสนับสนุน

คุณช่วยเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับชีวิตและอาชีพของคุณก่อนมาที่ประเทศไทยได้หรือไม่?

คนส่วนใหญ่คงรู้ว่าผมเป็นลูกชายของบรูซ เจิ้ง (ผู้ก่อตั้งเดลต้า กรุ๊ป) ผมไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ตอนอายุ 15 ปีและอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 14 ปี โดยส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ทางฝั่งตะวันตก บริเวณอ่าวซานฟรานซิสโก ผมเรียนที่มหาวิทยาลัย Santa Clara ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า

ผมเริ่มทำงานที่เดลต้าอย่างเป็นทางการในปี 2536 ในธุรกิจหน้าจอแสดงผลที่จงลี่ ประเทศไต้หวัน จนถึงปี 2545 จากนั้นตั้งแต่ปี 2545 ถึง 2557 ผมทำงานที่ Delta Networks Inc. หรือ DNI และตั้งแต่ปี 2557 ผมทำงานกับ PSBG ที่จงลี่ จากนั้นในปี 2561 PSBG ถูกแบ่งย่อยออกเป็น ICTBG และ EISBG และ EPSBG โดย EPSBG ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น PSBG อย่างที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งในปี 2565 เราได้มีการจัดระเบียบใหม่อีกครั้ง และได้มีการสร้างกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานที่ประกอบด้วย ICTBG, EISBG และ DSBU จากนั้นในปี 2566 ผมได้ถูกเรียกให้เข้ามาร่วมกับเดลต้าประเทศไทย

คุณเห็นองค์กรระดับโลกอย่างเดลต้าพัฒนาอย่างไรในช่วงหลายปีที่ผ่านมา?

ในช่วงเวลาที่ผมอยู่ที่ไต้หวัน ผมได้มีส่วนร่วมในด้านการขาย การตลาด และการออกแบบผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นของเรา ซึ่งผมจะคอยบริหารอยู่ในฝั่งของ BU ซึ่งการดำเนินงานนี้มีขึ้นเพื่อรับมือกับการขยายการผลิตของเราจากไต้หวันไปยังต่างประเทศเป็นหลัก
ในช่วงแรก เราดำเนินการในไต้หวันเท่านั้น ดังนั้น ทุกอย่างจึงสอดคล้องกับการรายงานตั้งแต่การผลิตจนถึง BU เมื่อเราขยายไปยังประเทศจีน เรายังคงมีการรายงานอยู่ อย่างไรก็ตาม เดลต้า ประเทศไทย แตกต่างออกไปเล็กน้อย เนื่องจากเรามีโครงสร้างทางกฎหมายของเราเอง และในที่สุดในปี 2538 เดลต้า ประเทศไทย ก็กลายเป็นบริษัทมหาชน

ดังนั้น เดลต้า ประเทศไทย จึงกลายเป็นฐานผลิตบางส่วนสำหรับธุรกิจของเดลต้า กรุ๊ป แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมโดยตรงจากธุรกิจเหล่านั้นทั้งหมด ในทางตรงกันข้าม ไต้หวันและจีนยังคงรักษาโครงสร้างดั้งเดิมของธุรกิจและการผลิตที่ควบคุมโดยตรงเป็นไซโล (Silo) ขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียว

คุณมีส่วนร่วมในกลุ่มธุรกิจที่เป็นนวัตกรรมมากมาย ตั้งแต่โซลูชั่นการแสดงผลไปจนถึง ICT และโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน จนถึงตอนนี้คุณได้เจอเหตุการณ์สำคัญอะไรในอาชีพการงานของคุณบ้าง?

ผมสนุกกับประสบการณ์และความท้าทายที่ยอดเยี่ยมในทุก BG เมื่อผมเข้าทำงานกับ DNI ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่แยกต่างหากและทำงานในสาขาที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานเป็นหลักของเดลต้า เราได้ทำให้บริษัทเป็นบริษัทมหาชนในฮ่องกง แต่ด้วยเหตุผลหลายประการซึ่งส่วนใหญ่มาจากวิกฤตการเงินโลก เราจึงได้ถอนตัวไปในปี 2553 จากนั้นเราได้ขยายธุรกิจจากประมาณ 200 MUSD ในปี 2546 สู่ 800 MUSD โดยประมาณ ภายในปี 2556 ดังนั้น ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา รายได้ของเราเพิ่มขึ้นสี่เท่าสู่ระดับพันล้านดอลลาร์ และในปัจจุบัน DNI ยังคงเป็นหนึ่งในบริษัทเครือข่ายรายใหญ่ในไต้หวัน

พูดตามตรง เมื่อมองย้อนกลับไปในตอนนั้นการเข้าสู่ธุรกิจเครือข่ายไม่ใช่การดำเนินงานเชิงกลยุทธ์มากนัก แต่เป็นการตัดสินใจที่จะทำในสิ่งที่แตกต่างออกไปเพื่อขยายกิจการมากกว่า ธุรกิจระบบเครือข่ายเป็นธุรกิจที่แตกต่างจากธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์กำลัง จุดมุ่งหมายหลักของเราคือการมีส่วนร่วมในธุรกิจอุปกรณ์ ICT เราเริ่มต้นด้วยสวิตช์และอุปกรณ์เชื่อมต่อ เนื่องจากกลุ่มนี้ไม่มีการดำเนินการเหมือนกับกลุ่ม PC ที่อยู่ภายใต้ยักษ์ใหญ่อย่าง Intel และ Microsoft

ในธุรกิจเครือข่าย (networking) ไม่มีผู้เล่นที่โดดเด่นมากนัก Cisco เป็นบริษัทเครือข่ายที่แข็งแกร่งมาก แต่ยังมีบริษัทเครือข่ายอื่น ๆ อีกมากมายที่มีไลน์ผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกัน นั้นหมายความว่าเรามีโอกาสมากขึ้นในตลาดอื่น ๆ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าและไม่ถูกตัดราคา แม้ว่าโดยพื้นฐานแล้วเราจะเป็นผู้ผลิต ODM แต่เรายังคงสร้างผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์ด้วยระบบฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ระบบปฏิบัติการ และอินเทอร์เฟซผู้ใช้ นั่นเป็นสาเหตุที่เดลต้าไม่ได้ผลิตแล็ปท็อป แต่เราผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ใช้งานเราเตอร์ Wi-Fi ทั้งหมดพร้อมฟังก์ชันเต็มรูปแบบที่ DNI สามารถส่งมอบให้กับลูกค้าได้

ในช่วงเวลาที่ผมทำงานที่ ICTBG เราได้ขยายธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ และตั้งแต่ปี 2557 ถึง 2558 เราได้ซื้อกิจการ Eltek ในนอร์เวย์มูลค่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ผมคิดว่าเป็นโปรเจคเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดสำหรับเรา แม้กระทั่งก่อนที่จะซื้อกิจการ Eltek นั้น เดลต้าก็เป็นผู้เล่นหลักในด้านระบบไฟฟ้าของสถานีโทรคมนาคมกลางแจ้งอยู่แล้ว ดังนั้น เราจึงกลายเป็นผู้นำอุตสาหกรรมนับจากนั้นเป็นต้นมา และผมภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในเรื่องนี้

ในเดือนมกราคม คุณได้เข้ารับตำแหน่งซีอีโอคนใหม่ของเดลต้า ประเทศไทย คุณจะใช้กลยุทธ์และนวัตกรรมทางธุรกิจใดบ้างในการขับเคลื่อน?

ผมคิดว่าความทะเยอทะยานของผมคือการทำให้เดลต้า ประเทศไทย มีความยั่งยืนและประสบความสำเร็จมากขึ้นโดยการสร้างรากฐานทางวิศวกรรมที่หยั่งลึกมากยิ่งขึ้นที่นี่ เราผลิตผลิตภัณฑ์มากมายที่นี่ แต่การมีส่วนร่วมในท้องถิ่นส่วนใหญ่จะอยู่ที่ด้านการผลิต รองลงมาคือในด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ หากเราสามารถมีส่วนร่วมอย่างอิสระในด้านการออกแบบและแนวทางการตลาด สิ่งนี้สามารถเข้ามาช่วยเดลต้า กรุ๊ปทั้งหมดได้ ซึ่งรวมถึงการให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาในด้านพลังงาน ระบบเครือข่าย โซลูชั่นระบายความร้อน และชิ้นส่วนประกอบต่าง ๆ มากขึ้น

จากนั้นก็มีการขยายธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะที่เดลต้า ประเทศไทย เราสวมหมวกสองใบ หนึ่งคือการเป็นสถานที่ที่ดำเนินการผลิตเป็นหลัก และสองคือเป็นศูนย์โซลูชั่นสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย สำหรับลูกค้า OEM รายใหญ่ทั่วโลกของเรา เรากำลังมุ่งเน้นไปที่ระดับการผลิตเพื่อการส่งออกมากขึ้น และสำหรับในภูมิภาค เรามุ่งเน้นไปที่การบริการอีกระดับสำหรับลูกค้าในท้องถิ่นมากขึ้น

เหตุผลหลักสำหรับโมเดลธุรกิจโซลูชั่นระดับภูมิภาคก็คือ เราไม่มีลูกค้าอิเล็กทรอนิกส์ ODM หรือยานยนต์รายใหญ่ในท้องถิ่น แต่เรามีลูกค้าในท้องถิ่นจำนวนมากที่ต้องการโซลูชั่น ซึ่งโซลูชั่นระบบอุตสาหกรรมของเดลต้าสำหรับกลุ่มลูกค้าหลักหรือกลุ่มตัวแทนจำหน่าย มีเป้าหมายการขายที่ย้ายไปยังเวียดนาม ไทย และอินโดนีเซีย ที่ต้องการโซลูชั่นระบบอัตโนมัติ สำหรับดาต้า เซ็นเตอร์ระดับภูมิภาคต้องการ UPS เพื่อเป็นพลังงานสำรอง และทุกธุรกิจต้องการพลังงานหมุนเวียน ระบบตรวจจับ และการจัดเก็บพลังงาน

ตอนนี้เดลต้ากำลังขยายการลงทุนเชิงรุกในไทย ทำไมประเทศไทยจึงมีความสำคัญต่อการผลิตระดับโลกและการเติบโตในอนาคตของเดลต้า?

เดลต้า ประเทศไทย มีขนาดธุรกิจที่ดีและเป็นที่ยอมรับโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่นมาเป็นเวลาหลายปี โดยรวมแล้วเรายังคงรู้สึกว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เป็นมิตรต่อธุรกิจซึ่งตั้งอยู่ในใจกลางอาเซียนเหมาะสำหรับดำเนินธุรกิจในท้องถิ่นกับประเทศในภูมิภาค

เมื่อเราสำรวจตัวเลือกในภูมิภาคแล้ว เรารู้สึกว่าไม่มีทางเลือกใดที่ดีไปกว่าประเทศไทย และได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นประเทศที่มั่นคงและเป็นมิตร ในทางภูมิศาสตร์ ประเทศไทยอยู่ไม่ไกลจากไต้หวัน ทำให้การติดต่อสื่อสารและการประชุมมีความสะดวก ดังนั้น เราจึงยังคงเติบโตและในอีก 4-5 ปีข้างหน้าเราจะขยายตัวอย่างรวดเร็วอันเป็นผลมาจากธุรกิจที่เข้ามาในประเทศไทยและการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าของเรา

เมื่อพิจารณาในระยะกลาง คุณช่วยแบ่งปันทิศทางและความคาดหวังของคุณที่มีต่อทีมในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าได้หรือไม่?

ผมเชื่อว่าเราจะต้องเสริมความแข็งแกร่งให้กับทรัพยากรด้านวิศวกรรมและเทคนิคของเราในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเพื่อให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างอิสระมากขึ้น เราจะจ้างงานเชิงรุกจากมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นทั้งใน Tier 1 และ 2 เราได้มีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการด้านพลังงานและระบบอัตโนมัติในมหาวิทยาลัยเจ็ดแห่งและเปิดรับสมัครงานจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

นอกจากนี้ เรายังทำงานร่วมกับอาจารย์มหาวิทยาลัยเพื่อนำเสนอหลักสูตรอิเล็กทรอนิกส์กำลังและระบบอัตโนมัติด้วยอุปกรณ์และระบบของเราเองเพื่อให้พวกเขาได้ฝึกฝน โดยในระดับภูมิภาคเรามีส่วนร่วมกับมหาวิทยาลัยในเวียดนามและสิงคโปร์ แต่ตอนนี้ เรามีความกระตือรือร้นมากที่สุดกับความร่วมมือทางวิชาการในประเทศไทย

เรากำลังเพิ่มทรัพยากรด้านการวิจัยและพัฒนาและเราจะเพิ่มผู้มีความสามารถด้านวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้นในอนาคต โดยในปีนี้เราจะเปิดการแข่งขันเดลต้าคัพในประเทศไทย ซึ่งจะกระตุ้นให้นักศึกษามหาวิทยาลัยมุ่งสู่ทิศทางที่สอดคล้องกับธุรกิจของเรามากขึ้น นอกจากนี้ เรายังส่งเสริมเดลต้า ประเทศไทย ให้เป็นที่ดึงดูดวิศวกรชาวไต้หวันและจีนให้ย้ายมาทำงานกับเราที่นี่

AI และระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของเราอย่างไร และอนาคตของการทำงานที่เดลต้า ประเทศไทย ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ใหม่จะเป็นอย่างไร?

วันนี้เรามีการผลิต AI Power Supply และนั่นจะกลายเป็นกลไกการเติบโตของเดลต้า ประเทศไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า กระบวนการผลิตจำนวนมากในปัจจุบันดำเนินการโดยเครื่องจักร และเป้าหมายคือไปถึงระดับ 80% ของระบบอัตโนมัติ เครื่องจักรจะบันทึกข้อมูลที่จะกลายเป็นฐานข้อมูลพื้นฐานสำหรับการนำ Machine Learning (ML) มาใช้ ซึ่งใช้อัลกอริธึมในการตรวจจับความเสถียรหรือความคลาดเคลื่อน และด้วยพลังของ AI เราจึงสามารถเพิ่มคุณภาพ ความแม่นยำ และผลผลิต หรือแม้กระทั่งความปลอดภัยในกระบวนการผลิตของเราได้

เราต้องเข้าใจว่าอุตสาหกรรมการผลิตทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน ประเทศในภูมิภาคหลายประเทศ เช่น ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการลดลงของจำนวนประชากรและสังคมสูงวัยเช่นเดียวกับที่ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น และจีน ที่ไต้หวัน มีพนักงานในสายการผลิตจำนวนไม่มากนัก ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องมีเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติในระดับที่สูงขึ้นเพื่อค่อย ๆ เข้ามารับงานบางส่วนที่ต้องใช้แรงงานคน

ชุดทักษะที่จำเป็นในการผลิตจะช่วยพัฒนาผู้ปฏิบัติงานไปเป็นช่างเทคนิคที่สามารถควบคุมเครื่องจักร ข้อกำหนดของงานจะรวมถึงกิจกรรมอย่างการสอบเทียบเครื่องจักรหรือการวิเคราะห์ข้อมูลเครื่องจักร ซึ่งเราเห็นสถานการณ์ที่คล้ายกันเกิดขึ้นในไต้หวันและจีน ดังนั้น เราคาดว่ามันก็จะเกิดขึ้นที่ประเทศไทยเช่นเดียวกัน

สุดท้ายนี้ เมื่อเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาไป โดยทั่วไปแล้วระบบจะเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจการบริการมากขึ้น ดังนั้น จึงอาจมีทางเลือกด้านอาชีพมากขึ้นในอนาคต ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมบริการที่คึกคักมาก โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ดังนั้นผู้คนอาจจะเลือกหรือไม่เลือกทำงานในภาคการผลิตก็ได้ในอนาคต

คุณชอบอะไรมากที่สุดเกี่ยวกับประเทศไทย และคุณใช้ชีวิตอย่างไรตั้งแต่มาอยู่ที่นี่?

ผมมาพักผ่อนที่เมืองไทยหลายครั้ง ซึ่งมันเป็นประเทศที่สวยงาม ผมตั้งตารอเป็นพิเศษที่จะได้เดินทางไปที่เชียงใหม่ที่อยู่ภาคเหนือและหมู่เกาะภูเก็ตและสมุยทางภาคใต้ ตั้งแต่มาถึงที่นี่ผมยุ่งมากกับการจัดบ้านใหม่ เลยยังไม่มีโอกาสได้ไปเที่ยวที่เหล่านั่น วันหยุดสุดสัปดาห์ส่วนใหญ่ผมชอบไปห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพ เพราะผมกำลังมองหาเฟอร์นิเจอร์และสิ่งอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับบ้านใหม่ของผม

สำหรับวัฒนธรรมไทย ผมคิดว่าเราทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่านี่เป็นประเทศที่เป็นมิตรมาก ผมพบว่าวิถีชีวิตของคนในประเทศไทยไม่แตกต่างจากที่ไต้หวันมากนัก แต่ที่นี่ผู้คนมีความเป็นมิตรและผ่อนคลายมากกว่ามาก หากคุณต้องติดต่อกับคนไทย คุณจะพบว่าพวกเขามีอัธยาศัยดี อาหารก็อร่อยเหมือนกันแม้ว่าบางครั้งจะเผ็ดไปหน่อยก็ตาม

คุณช่วยแบ่งปันสไตล์การบริหารจัดคุณให้เราฟังได้หรือไม่ และคุณคิดว่าคุณสมบัติใดที่สำคัญสำหรับการเป็นผู้นำ?

ผมเชื่อมาตลอดว่าทุกคนคือสิ่งที่สร้างความแตกต่างในบริษัท เราสามารถมีกระบวนการและระบบที่ยอดเยี่ยมได้ แต่เมื่อพูดถึงการสร้างความแตกต่างให้กับบริษัทหนึ่งเหมือนเทียบกับอีกหนึ่งบริษัทนั้นก็คือทรัพยากรบุคคลที่สำคัญ บางครั้งอาจต้องใช้คนเพียงไม่กี่คนที่กำหนดมาตรฐาน โดยทั่วไปแล้ว ผมต้องการให้ทุกคนที่ทำงานรอบตัวผมมีพื้นที่และอิสระในการริเริ่มความคิดของตนเอง อย่างไรก็ตาม เราเป็นบริษัทที่ปฏิบัติการด้านการผลิต ดังนั้น เราจึงยังคงต้องรักษาวินัยของเราเพื่อให้สามารถดำเนินการด้านการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผมคาดหวังว่าผู้นำของเราจะตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าตลอดเวลาและมีวินัย อย่างไรก็ตาม ผมไม่ต้องการให้เป็นผู้นำที่เพียงแต่บงการหรือบอกเพื่อนร่วมงานว่าต้องทำอะไรอยู่ตลอดเวลา คุณทุกคนมีหน้าที่และงานที่กำหนดไว้แล้ว และทุกคนสามารถทำงานของตัวเองได้ หากประสบปัญหา เราสามารถสื่อสารอย่างเปิดเผยได้ตลอดเวลา ผมพร้อมให้การสนับสนุนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะในแง่ของความพยายามของตัวเองหรือในแง่ของทรัพยากรที่ผมสามารถใช้ได้

นั่นเป็นปรัชญาพื้นฐานของการที่ผมดำเนินการสิ่งต่าง ๆ ในฐานะผู้นำ ผมพยายามรักษาเคมีกับทุกคนที่ผมติดต่อด้วยความซื่อสัตย์และเปิดเผย อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วหากจำเป็นต้องมีการตัดสินใจในสิ่งที่ยากลำบาก ผมคือผู้ที่ต้องทำการตัดสินใจนั้น ดังนั้น เมื่อเรามีความเห็นที่ไม่ตรงกัน แต่จำเป็นต้องมีการตัดสินใจอย่างถูกต้อง ผมจะทำการตัดสินใจตามที่ผมคาดหวังให้ทุกคนปฏิบัติตาม แต่โดยทั่วไปแล้วหากทุกคนมีความคิดเห็นตรงกัน ผมก็จะไม่พูดอะไรมากตามสไตล์ของผม

คุณมีอะไรที่อยากจะแบ่งปันให้กับเพื่อนร่วมงานเดลต้าของคุณในประเทศไทยและทั่วโลกหรือไม่?

เราทุกคนมีความต้องการพื้นฐานคล้ายกัน เราทุกคนต้องการประสบความสำเร็จไม่ว่าจะเป็นในด้านอาชีพ การเงิน หรือครอบครัว และเราต้องการที่จะได้รับการยอมรับ เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เราต้องการให้ความเคารพและรู้สึกถึงความสำเร็จหรือความสำคัญในระดับหนึ่ง แม้ว่าเดลต้าจะไม่ใช่บริษัทที่ใหญ่ที่สุด แต่ผมหวังว่าเราจะนำเดลต้า ประเทศไทย ขึ้นเป็นบริษัทที่ดีที่สุดในกลุ่มธุรกิจของเรา ผมต้องการให้เดลต้าประสบความสำเร็จทางการเงินและยั่งยืนในแง่ของการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ผมยังต้องการให้เดลต้า ประเทศไทย ได้รับการยอมรับในชุมชนอีกด้วย ผมหวังว่าเมื่อมีคนได้ยินว่าคุณทำงานที่เดลต้า ประเทศไทย พวกเขาจะพูดว่า “โอ้ นี่เป็นบริษัทที่ดีนะ” เพราะในไต้หวันเรามีชื่อเสียงเช่นนี้ เมื่อพวกเขาบอกว่าดี นั่นไม่ได้หมายความว่าเป็นเพราะเราเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จทางการเงินมากที่สุดอย่าง TSMC หรือในแง่ของขนาดอย่าง Foxconn อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้คนรู้สึกว่าเดลต้าเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในด้านพลังงานและทำสิ่งดี ๆ มากมายให้กับชุมชนของเรา ซึ่งจริงๆแล้วเราได้ทำหลายอย่างเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและใช้พลังงานหมุนเวียน การกระทำเหล่านี้ก็ได้เป็นการสื่อความหมายไปแล้วว่าเราคือใคร

ในประเทศไทย เราโชคดีที่เติบโตเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในภาคการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย การเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดถือเป็นรากฐานที่ดี และกิจกรรมของเรากับมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นและโซลูชั่นด้านพลังงานของเราจะมีผลกระทบต่อการพัฒนาโดยรวมของอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย เรามาที่นี่เพื่อสร้างธุรกิจให้เติบโตและทำกำไร แต่เราก็มีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือประเทศไทยและชุมชนของเราด้วย หวังว่าสักวันหนึ่งเราจะได้รับการยอมรับว่าเป็นบริษัทที่ดี และทุกคนจะรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำงานที่เดลต้า ประเทศไทย

David Nakayama

เกี่ยวกับผู้เขียน (ทีมบรรณาธิการ)

David Nakayama

หากคอนเทนต์คือราชา ซึ่งแน่นนอนว่าต้องมีผู้สร้างราชา และธีมโปรดในบทความของผมคือความปรารถนาของมนุษย์ที่จะเป็นอิสระ ผมจบปริญญาโทในสาขาการศึกษาภาษาจีน และมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมในหลายประเทศ ในฐานะที่เป็น Comms ของเดลต้า ประเทศไทย ผมมีความสนใจเป็นอย่างมากเกี่ยวกับเรื่องราวเบื้องหลังของผลิตภัณฑ์และผู้คนของเรา สามารถแบ่งปันเรื่องราวของคุณกับผมได้ที่ https://www.linkedin.com/in/yushi-david-nakayama/

แชร์ facebook linkedin

ร่วมแสดงความเห็น

แสดงความคิดเห็น next