โดย พัณณิดา คัทนศรี - เผยแพร่เมื่อ มีนาคม 27, 2566
บทความโดย พัณณิดา คัทนศรี, DET Corp Comms
ภาพโดย คุณ ยุทธนากร คณะพันธ์
เข้าสู่ปีที่ 7 ของโครงการ Delta Angel Fund ซึ่งเป็นโครงการที่เดลต้าประเทศไทยกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมร่วมกันสนับสนุนและพัฒนากลุ่มสตาร์ทอัพ เพื่อให้สามารถนำทักษะและองค์ความรู้ไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ วันนี้เรามาทำความรู้จักกับ RENEWSI ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการ Delta Angel Fund 2565 โดยคุณยุทธนากร คณะพันธ์ พร้อมทั้งรับฟังมุมมองของการเป็นสตาร์ทอัพใหม่ในประเทศไทย เป้าหมาย การวางแผน และ การเติบโตในอนาคต
ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าโปรเจ็คที่ทำงานอยู่คืออะไร มีลักษณะการทำงานเป็นอย่างไร?
สถานการณ์ในประเทศไทยวันนี้ไม่ได้มีการนำโซลาร์เซลล์ที่พังหรือไม่ได้ใช้แล้วมารีไซเคิลเป็นโซลาร์เซลล์ใหม่หรือผลิตเป็นอย่างอื่น เช่น ผลิตเป็นแบตเตอรี่ใหม่ จะมีเพียงแค่การกำจัดด้วยการทิ้งในหลุมฝังกลบหรือตั้งทิ้งไว้รอการจัดการเท่านั้น สำหรับโปรเจ็คที่ผมทำอยู่มันมีแค่ประโยคเดียวครับเวลาออกไปอีกพรีเซนต์ให้กับคนอื่นฟัง คือ เราเปลี่ยนขยะจากสิ่งไม่มีค่าให้มันกลายเป็นสิ่งที่มีค่าได้ เปลี่ยนในที่นี้ก็คือเอาแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุการใช้งาน ซึ่งแผงโซลาร์เซลล์มันจะมีอายุการใช้งานประมาณสักยี่สิบสามสิบปี หรือแค่พังมันก็สามารถเอามารีไซเคิลได้ รีไซเคิลในที่นี้คือ แผงโซลาร์เซลล์จะมีส่วนประกอบที่เป็นสีน้ำเงินที่เห็นได้ง่ายส่วนนั้นคือซิลิกอน เรานำซิลิกอนนั้นแหละมารีไซเคิลเป็นขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่นั่นเอง เราก็เลยเป็นเหมือนกับผู้ผลิตแบตเตอรี่ซึ่งผลิตขาย แต่ว่าเรามี Core Technology ที่ทำกับพวกไฟฟ้าอยู่ เพราะว่าแบตเตอรี่จะจุได้เยอะ วิ่งได้ไกล fast charging มากแค่ไหน มันก็ขึ้นอยู่กับหัวใจหลักสำคัญ ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ทำ เราก็แค่เอาขยะมาเป็นทำแบตเตอรี่
ตอนนี้ผลิตแบตเตอรี่ชนิดใด สามารถใช้กับอะไรได้บ้าง?
อันที่จริงมันคือ Lithium-ion battery ซึ่งเป็นแบตเตอร์รี่ที่ใช้กับทุกๆอย่าง ถ้าแงะโทรศัพท์ออกมาดูจะเห็นได้ว่าขั้วไฟฟ้ามันเหมือนกันหมด ใช้วัสดุชนิดเดียวกัน ดังนั้นที่เราทำอยู่มันคือขั้วไฟฟ้าที่ได้จากขยะ ซึ่งพวกเนี่ยมันอยู่ในแบตเตอรี่ทั่วไป ลองนึกถึงภาพที่แต่ก่อนเราจะเห็นแบตเตอรี่ถังขนาดใหญ่เหมือนที่เห็นเวลาเปิดฝากระโปรงรถ อันนั้นคือแบตเตอรี่ตะกั่วกรด ซึ่งจุได้น้อยกว่า อาจจะถูกกว่าและมีน้ำหนักมาก แล้วทำไมเรามีแบตเตอรี่ที่เบาๆใช้ เช่น แบตเตอรี่ในโน๊ตบุ๊ค แบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งพวกนี้ต้องการแบตเตอรี่ที่มีน้ำหนักเบาแต่มีอัดแน่นด้วยพลังงานสูง นั่นแหละครับ Lithium-ion battery ก็เลยมาแทนในตลาด แล้วพอมาแทนในตลาดสิ่งที่ต้องทำก็คือขั้วบวกกับขั้วลบ ซึ่งโซลาร์เซลล์นั่นแหละที่สามารถเอามาทำเป็นขั้วลบได้ แผงโซลาร์เซลล์ 1 แผง จะมีน้ำหนักราวๆ 20 กิโลกรัม และจะมีซิลิกอนอยู่ที่ 1 กิโลกรัม โดยปกติแล้วถ้าการนำไปแผงโซลาร์เซลล์ไปรีไซเคิลจะมีมูลค่าเพียง 50 บาทเท่านั้น แต่เราสามารถเพิ่มมูลค่าโดยการทำเป็นแบตเตอรี่เกรดซิลิกอนที่มีมูลค่าราวๆ 1,000 บาทได้
สมาชิกในทีม RENEWSI มีใครบ้าง และมารวมกลุ่มได้อย่างไร?
ทีม RENEWSI หลักๆคือมีผมและอาจารย์ที่สอนผมในมหาลัยตั้งแต่ปริญาตรีจนถึงปริญาเอก เราทำแบตเตอรี่มาตั้งแต่แรก อาจารย์เป็นเหมือน co-founder ของ RENEWSI ซึ่งอาจารย์เองก็มีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ของตนเองอยู่แล้ว ส่วนทีมซับพอร์ตก็มีอาจารย์อีกคนที่เกษียณ เขาสอนขับเครื่องบินที่อเมริกา เขามาช่วยในเรื่องขององค์ความรู้ด้านวิศวะและภาษาให้ผมได้นำเสนองานเก่ง ส่วนทีมมาร์เก็ตติ้งผมได้ความอนุเคราะห์มาจากอุปนายกสมาคมหอการค้าไทยซึ่งก็มาปรับเปลี่ยนมุมมองให้ผมได้นำเสนองานและได้เข้าใจในด้านธุรกิจจริงๆ และก็ยังมีทีม R&D อีกเยอะมากมาย ทีมโรงงานของอาจารย์อีกประมาณ 30 คน รวมๆแล้วประมาน 50 คนได้ เรามีความพร้อมในการทำตรงนี้
RENEWSI ชื่อนี้มีที่มาจากอะไร?
ตอนตั้งชื่อก็มีความคิดว่าเป็นการเอาไปรีไซเคิลซะสิ แต่จริงๆคำว่า SI (ซาย) มาจากคำว่า Sand ทราย ซึ่งโซลาร์เซลล์ก็ทำมาจากทราย หรือจะเรียกชื่อนี้ว่ารีนิวสิก็ได้ (Silicon : Si) เพราะมันเป็นสินค้าของเราเอง บางคนเรียกรีนิวไซส์ อันนี้พึ่งได้ยินมาไม่นาน แต่ความหมายสอดคล้องกับสินค้าของเราที่สามารถควบคุมไซส์ของซิลิกอนได้ จริงๆก็เปิดกว้างครับ เรียกได้หมดทุกชื่อ ชอบหมดทุกชื่อเลย (หัวเราะ)
ปัญหาแผงโซลาร์เซลล์และขยะพลังงานพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยมีขนาดใหญ่เพียงใด ทำไมถึงตัดสินใจมาทำโปรเจ็คนี้?
โลกของเรามีปริมาณการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่เพิ่มขึ้นอย่างเป็นทวีคูณในทั่วทุกมุมโลก เมื่อความต้องการการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์สูงขึ้น เราก็ยังต้องกลับไปจัดการปัญหาอยู่ดีครับ เพราะว่าโซล่าเซลล์เหล่านี้มีอายุขัยนะครับ แล้วจากสถานการณ์ประเทศไทยวันนี้บอกกับเราว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ยังเป็นการจัดการแบบฝังกลบอยู่ ดังนั้นเราจึงไม่อยากปล่อยให้มันเกิดแบบนี้ได้อีกต่อไปแล้วครับ เพราะมันไม่ใช่ circular economy มันไม่ยั่งยืน ทำไมเราไม่เอาของเสียที่เกิดขึ้นกลับไปทำแบตเตอรี่อีก คือรู้อยู่แล้วว่าเอากลับไปทำเป็นแผงโซลาร์เซลล์ได้แต่มันไม่คุ้มที่จะลงทุน ต้นทุนมันสูง แต่แบตเตอรี่ไม่ได้ต้องการขนาดนั้น ปัญหามันใหญ่มากเลยครับ เพราะว่าพอโซลาร์เซลล์ถูกฝังกลบเมื่อวันนึงน้ำฝนตกน้ำท่วมหรือมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น สารเคมีที่อยู่ในนั้นก็อาจจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมได้
จากสถิติในปี 2565 เฉพาะโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุการใช้งานที่ขึ้นตรงจดทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีราวๆ 4,000 ตัน ไม่รวมหน่วยครัวเรือนและอื่นๆ มีการคาดการณ์ว่าอีกประมาณซักสิบยี่สิบปีขยะตรงนี้จะกลายเป็นหลักล้านตันนะครับ ที่รู้สึกว่าจะต้องทำโปรเจ็คนี้ให้ได้เพราะว่าประเทศไทยเรายังไม่มีโรงอุตสาหกรรมรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ด้วย ก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่อยู่นะครับ
หลายสิบปีที่ผ่านมารัฐบาลและเอกชนพยายามที่จะตั้งโรงงานรีไซเคิลขึ้นมา เพราะมีโซลาร์ฟาร์มใช้โซลาร์เซลล์เยอะมาก แต่ว่ายังไม่เกิดขึ้นสักที เพราะว่าปัญหาเดียวคือมันไม่คุ้มที่จะลงทุน เพราะว่าพอเราแยกส่วนประกอบออกมาแล้วไปขายรวมกันแล้วอ่ะ ก็ยังไม่ได้โซลาร์เซลล์ใหม่ มันน้อยมากๆ เพราะว่าเขาไม่ได้นำมาแปรรูปเป็นแบตเตอรี่
เราเป็นบริษัทแรกในประเทศที่เปลี่ยนซิลิกอนเกรดโลหกรรมไปเป็นแบตเตอรี่เกรดเป็นที่แรก อันที่จริงในทั่วโลกตอนนี้ก็ยังไม่มีบริษัทไหนที่เปลี่ยนเป็นแบตเตอรี่เกรดจากโซลาร์เซลล์ เราอาจจะเป็นเจ้าแรกในโลกก็ได้ครับ
คิดว่า RENEWSI อยู่ในตำแหน่งใดของอุตสาหกรรมสีเขียวของประเทศไทย และคิดว่าจะเติบโตไปในทิศทางไหน?
เราคงอยู่ในเฟสเริ่มต้นเท่านั้น สิ่งต่อไปที่ต้องการดำเนินการ คือ การแยกโรงงานผลิต การมีไลน์ผลิตที่ขยายกำลังการผลิตได้ให้เป็นระดับหลักกิโล หลักตัน ต่อไปในอนาคต ซึ่งมันทำได้เพราะว่ามันมีซัพพลายเออร์เป็นโซลาร์เซลล์ที่เป็นขยะรอกำจัดทิ้งจำนวนมากพวกนี้อยู่
ในส่วนของลูกค้า เราเองก็มีลูกค้าหลายตลาด หากไม่ได้ทำแบตเตอรี่เกรด เรายังสามารถผลิตเป็นเกรดโลหะ หรือ อลูมิเนียม ซิลิกอนอัลลอย ตลาดโลหะผสมหรือ พลาสติก ซิลิโคน ซึ่งพวกนี้ก็มีความต้องการซิลิกอนเช่นเดียวกัน แต่สุดท้ายแล้วตลาดที่มีมูลค่ามากที่สุดก็คือตลาดแบตเตอรี่ที่เราตั้งใจทำ
หากถามว่าจะโตได้แค่ไหน ผมชอบคำนี้มากเลย(ยิ้ม) ตอนนี้ผู้ขายแบตเตอรี่รายใหญ่ในประเทศไทยนำเข้าวัสดุเคมีภัณฑ์ทั้งขั้วบวกและขั้วลบหรือองค์ประกอบภายในจากต่างประเทศร้อยเปอร์เซ็นต์ ขั้วบวกปกติผลิตจากแร่ลิเธียม แต่ประเทศไทยเราไม่มีเหมืองลิเธียม หรือแม้กระทั้งกราไฟต์ที่ใช้ผลิตขั้วลบและเป็นวัสดุใช้ทำใส้ดินสอ อันนี้ก็ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
ดังนั้นผมต้องพิสูจน์ตัวเองว่าแบรนด์ของเราดีกว่าและถูกกว่า ซึ่งขั้นตอนของเราพิสูจน์ได้แล้วว่าดีกว่า ทั้งเหมาะกับแบตเตอรี่แบบ fast charge เมื่อนำไปใส่รถยนต์ฟ้าก็สามารถวิ่งได้ไกลกว่าเดิม เพราะจุกำลังไฟได้มากกว่า และมีความปลอดภัยกว่าวัสดุที่ใช้ในท้องตลาดทั่วไป
ดังนั้นความต้องการใช้อีวีสูงขึ้นปริมาณแบตเตอรี่ที่ใช้ก็สูงตาม แล้วความต้องการของวัสดุที่ใช้ทำแบตเตอรี่ก็สูงตามอีกด้วย แล้วยิ่งเราเป็นซับพลายเออร์ให้กับประเทศ ความยั่งยืนมันจะเกิดขึ้น ถ้าหากจัดการกับโซลาร์เซลล์ที่เสียพุพังได้เราก็คงไม่อยากให้ฝังสิ่งนี้ที่มีค่าลงกับดิน
รู้จักโครงการ Delta Angel Fund ได้อย่างไร และโครงการนี้ช่วยให้พัฒนาโซลูชั่นและธุรกิจของคุณได้อย่างไร?
รู้จักโครงการนี้ได้เพราะอาจารย์แนะนำมา ในตอนแรกตั้งใจแค่จะเข้าร่วมเพื่อรับการอบรมในเชิงธุรกิจเท่านั้น เพราะผมโตมาจากการเป็นนักวิจัย ไม่ได้มีความรู้ในด้านธุรกิจ แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการ Delta Angel Fund ทำให้ผมได้มีความรู้และทักษะในการนำเสนอมากขึ้น รวมเรื่องอื่นๆในด้านธุรกิจ ซึ่งทางเดลต้าและกรมอุตสาหกรรมส่งเสริมให้ความรู้อย่างมากมายในระยะเวลาอันสั้น แต่ว่าอัดเน้นด้วยคุณภาพ
จริงๆตอนแรกคิดว่าน่าจะไม่ได้เข้ารอบลึกๆด้วยซ้ำ เพราะแค่มาเรียนรู้ก่อนไว้พร้อมอีกสักหน่อยค่อยประกวดจริง แต่เมื่อโอกาสมันมาแล้ว เลยรู้สึกว่าไม่ได้แล้ว! เราต้องทำให้เต็มที่ที่สุด (ยิ้ม) และจากการเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างมาก ช่วยให้เราดึงไฮไลท์ของงานออกมาได้ ทำให้เราทำการบ้านกับทีมมากขึ้น คิดอย่างรอบด้าน ทำให้เรารู้จักการเป็นผู้ประกอบที่ดีมากขึ้น
นอกจากแบตเตอรี่เกรดซิลิกอนที่ทำอยู่กับโครงการ Delta Angel Fund มีโปรเจคอื่นๆอีกหรือไม่ที่คุณกำลังทำ หรือมีส่วนร่วม?
ยังไม่มีครับ เพราะตอนนี้เราต้องรีบนำซิลิกอนไปให้กับตลาดแบตเตอรี่ซึ่งต้องใช้กำลังมหาศาลในการศึกษา ทำความเข้าใจ ฟอร์มทีม ตั้งโรงงานขึ้นมา เพราะว่าด้วยความที่ผมเป็นนักศึกษา ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นของมหาลัย เราก็ต้องมีการวางแผนที่จะ exclusive license patent ออกมาอีก แล้วสิ่งที่ต้องทำให้ได้มากที่สุดตอนนี้คือคุณภาพของซิลิกอนแบตเตอรี่เกรดจะต้องดีกว่าตลาดทั่วโลก เราจึงทุ่มเทให้กับการพัฒนาตรงนี้เป็นหลัก
คุณมีความคิดเห็นอย่างไรที่ประเทศไทยมีกลุ่มสตาร์ทอัพขนาดเล็กเมื่อเทียบกับประเทศอื่น และมีสิ่งใดที่เป็นความท้าท้ายที่สตาร์ทอัพชาวไทยอย่าง RENEWSI ต้องพบเจอบ้าง?
แน่นอนว่ากลุ่มสตาร์ทอัพในประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นแล้วมันน้อยมากๆ และยังไม่ถูกส่งเสริมมากเท่าไหร่ ซึ่งโครงการ Delta Angel Fund ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมร่วมกับบริษัทเอกชนอย่างเดลต้ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเป็นเรื่องของการสร้างชุมชนของสตาร์ทอัพและ Deep Technology ให้มีเวทีแสดงศักยภาพ แต่จริงๆแล้วมันก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานทุกภาคส่วนที่ต้องสร้างแรงกระเพื่อมขนาดใหญ่ให้ผู้ใหญ่ได้เห็นว่าจะต้องมีการสนับสนุนในส่วนนี้เพื่อให้ประเทศก้าวหน้าต่อไป
ถ้าถามว่าอะไรคือความถ้าทายที่กำลังเจออยู่ (นึกคิด) .. เราเป็นคนแรกของการผลิตแบตเตอรี่จากโซลาร์เซลล์ เราเป็นแบรนด์ใหม่ ทำไมลูกค้าต้องซื้อ แล้วยิ่งเป็นสินค้าที่มูลค่าสูง ลูกค้าจะเชื่อใจเราได้อย่างไร.. ดังนั้นคิดสิ่งที่กำลังท้าทายอยู่ตอนนี้คือ การสร้าง Branding ครับ (ยิ้ม) มันคือเรื่องการเป็น no name ยิ่งเป็น no name ที่เข้ามาตลาดใหม่ๆและเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม เรายิ่งต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้ได้มากๆ ซึ่ง RENEWSI จะไม่หยุดพัฒนาแค่ตรงนี้แน่นอน เราตั้งเป้าหมายในการสร้าง Branding ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
คุณจะแนะนำสิ่งใดให้กับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ Delta Angel Fund เพื่อปรับเปลี่ยนความคิดเริ่มต้นของเขาให้เป็นธุรกิจที่สามารถทำกำไรได้?
คือเราจะต้องทำยังไงก็ได้ให้ผู้ใหญ่มองเห็นภาพของเราในหัว เราต้องอินในสิ่งนั้น เราต้องลงไปอยู่กับสิ่งนั้นจริงๆ เราต้องลงไปดู Pain Point ที่เราพูด คือเวลาเรามองหาพาร์ทเนอร์เราก็ต้องเข้าใจตัวเองด้วย อยากให้สตาร์ทอัพลงไปถึงพื้นที่แล้วจะได้รู้ว่าปัญหานี้จะต้องถูกแก้ยังไง พอเราอินกับสิ่งนั้นมันจะแสดงให้กับผู้ใหญ่เห็นเองทั้งผ่านแววตาและคำพูด เรามีความต้องจริงใจในการนำเสนอ
คุณคิดว่านวัตกรรมจากโครงการ Delta Angel Fund ช่วยสร้างอนาคตที่กว่าให้กับประเทศไทยได้อย่างไร?
อันดับแรกนวัตกรรมนั้นจะต้องมีความยั่งยืน ทั้งซับพลายเออร์หรือทรัพยากร จะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีการจัดการ การวางแผนที่ดี คิดให้จบ คิดให้ครบ อันดับสองคือเมื่อมีการรวมกลุ่มกันสร้างสรรค์นวัตกรรมและเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง จะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้หลายหน่วยงานได้เห็นความสำคัญ และเกิดเป็นกลุ่มของสตาร์ทอัพเทคโนโลยีใหญ่ขึ้นมาแน่นอน แน่นอนว่าย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ และภาพรวมของประเทศไทยได้